ความเป็นมา

สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย

ความพยายามของบารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ (Pierre de Coubertin) บิดาแห่งโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ ที่ได้ปฏิรูปการแข่งขัน โดยมีเจตนารมณ์ที่ปรากฏอย่างชัดเจน โดยได้กล่าวไว้ในการประชุมที่ Sorbonne University, Paris ในการประชุม Paris Congress เมื่อปี ค.ศ.1892 ว่า “กีฬาจะเป็นสื่อกลางที่จะทำให้มวลมนุษย์มีชีวิตอย่างสงบสุข และการที่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่สงบสุข จะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์โอลิมปิก (Olympic Movement) โดยใช้กิจกรรมโอลิมปิกศึกษา (Olympic Education) ที่หลากหลาย” ตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี เจตนารมณ์ของ ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ได้แพร่ขยายออกไปในทุกประเทศทั่วโลก โดยมีสถาบันวิทยาการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Academy: NOAs) เป็นผู้นำแนวคิดดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ (National Olympic Committees: NOCs) อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงของสังคมในปัจจุบัน พบว่าเจตนารมณ์ของ ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ยังไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางอย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีสงคราม ยังมีความรุนแรง ยังมีนักกีฬาที่มีฝีมือยอดเยี่ยมที่ยังไม่รู้จักคำว่า “เล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม” (Fair Play) สังคมยังมีการแก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่น ฉกฉวยโอกาส โดยขาดการมีน้ำใจนักกีฬา (Sportsmanship) การแข่งขันในระดับนานาชาติทุกครั้งจะมีการตรวจพบการใช้สารต้องห้าม (Doping) อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการนำเอาแนวความคิดที่เกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิก (Olympism) ตามแนวความคิดฐานรากจาก ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ซึ่งจะเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของการกีฬาเพื่อเสริมสร้างคุณค่าของชีวิต (Sport Values) โดยกลับกลายเป็นความมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ (Olympic Winning) โดยใช้วิธีการที่ผิดๆ อย่างหลากหลายและแน่นอนผลที่ตามมาก็คือ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเยาวชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ผู้ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติ

สถาบันวิทยาการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Academy: IOA) เป็นสถาบันที่มีสถานที่ทำงานอยู่ที่เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เป็นสถานศึกษาที่บิดาแห่งโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ ประสงค์จะให้เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการทำคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เป็นคนที่มีคุณภาพ โดยผ่านการเรียนรู้ การฝึกฝนจากเนื้อหาที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์โอลิมปิก สถาบันแห่งนี้ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ.1961 และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานศึกษาแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ และเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และวิวัฒนาการของโอลิมปิกเกมส์ตั้งแต่ยุคโบราณ จนถึงโอลิมปิกเกมส์ยุคใหม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกแต่ละครั้ง ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จะช่วยให้มวลมนุษยชาติได้มีความรู้ความเข้าใจ สื่อสัมผัสได้ซึ่งกันและกัน เป็นแหล่งฝึกฝน และเกิดการซึมซับเกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม ความมีน้ำใจนักกีฬา การเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม การได้รับชัยชนะจากการเข้าร่วมการแข่งขันที่เกิดจากความสามารถที่แท้จริง คำขวัญ 3 คำ ที่ท่าน บารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ได้ให้ไว้ โดยผสมผสานไปกับปรัชญาของการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ว่า “CITIUS – ALTIUS – FORTIUS” โดยมีผู้แปลไว้ว่า “เร็วกว่า สูงกว่า และไกลกว่า หรือแข็งแรงกว่า” หากจะมองในความหมายของรูปศัพท์อย่างง่ายๆ ของสถานการณ์ของการกีฬา ก็คือ “วิ่งให้เร็วกว่า กระโดดให้สูงกว่า และขว้างให้ไกลกว่าด้วยความแข็งแรง” แต่หากจะบูรณาการแนวคิดของการดำเนินชีวิตจริงในสังคมโดยทั่วไปแล้วจะพบว่า คำว่า “เร็วกว่า” นั้น หมายถึง การที่เราจะต้องเป็นผู้ที่ว่องไว ปราดเปรียว คิดเร็ว ทำเร็ว อย่างมีสติ ไม่เชื่องช้า คำว่า “สูงกว่า” หมายถึงการที่เราจะต้องมีความมุ่งมั่น ใจจดใจจ่อ มีการตั้งเป้าหมาย ในการที่จะกระทำสิ่งใดๆ ไว้อย่างชัดเจน และจะต้องไปให้ถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ มีจิตใจสูงส่งด้วยการทำคุณงามความดี มีศีลธรรม มีจริยธรรม และคุณธรรม สำหรับคำว่า “แข็งแรงกว่า” หมายถึง การที่จะทำสิ่งใด เราจะต้องมีพลัง มีความเข้มแข็ง อดทน โดยไม่ท้อถอย หากจะพบกับปัญหา และอุปสรรคต่างๆ ก็พร้อมที่จะต่อสู้ และฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านั้นไปให้ได้เพื่อการมีชีวิตอย่างสงบสุขในสังคม สำหรับคำขวัญทั้ง 3 คำ ดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ครอบครัวโอลิมปิก (Olympic Family) ทุกประเทศทั่วโลกได้นำมาใช้เป็นคำขวัญ และจะมีปรากฏให้เห็นตามแหล่ง และสถานที่ที่สำคัญๆ ในองค์กรกีฬา โดยใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต จึงนับได้ว่า คำพูดของบิดาโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่สามารถนำมาใช้ได้ในทุกยุค ทุกสมัย โดยไม่ล้าหลัง

สำหรับประเทศไทย หลังจากได้มีการก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2491 การดำเนินงานก็จะทำควบคู่กันไประหว่างภารกิจหลักของการจัดส่งนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และงานทางด้านวิชาการ ซึ่งจะมีภารกิจหลักในการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิก (Olympism) และยุทธศาสตร์โอลิมปิก (Olympic Movement) การดำเนินงานทางด้านวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมสัมมนา จัดทำสิ่งตีพิมพ์ วารสาร จดหมายข่าว แผ่นพับ เพื่อการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล ได้ทำในรูปแบบอย่างไม่เป็นทางการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วย ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ดร.สุพิตร สมาหิโต ดร.สมบัติ กาญจนกิจ และ ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม และมีพลตรี ดร.จารึก อารีราชการัณย์ และนายสันติภาพ เตชะวณิชย์ เป็นที่ปรึกษา งานทางด้านวิชาการในยุคนั้นๆ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบันวิทยาการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Academy: IOA) และคณะทำงานก็มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมสัมมนาในหัวข้อ Olympism และ Olympic Movement พร้อมทั้งได้นำบทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับผลงานของการจัดทำ “ยุทธศาสตร์โอลิมปิก” ของประเทศไทยไปนำเสนอในการอบรมสัมมนา ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซอยู่เป็นระยะๆ นั้น ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ ความร่วมมือ ร่วมใจ และพร้อมที่จะดำเนินรอยตามวิถีทางที่ท่านบารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ได้วางรากฐานเอาไว้ และในฐานะของประเทศสมาชิกที่ดี ที่ประเทศไทยโดยคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ยึดถือและปฏิบัติมาโดยตลอด

ในปี พ.ศ. 2544 คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ได้เห็นชอบในการที่จะปรับปรุงโครงสร้างของการบริหารองค์กร และเห็นชอบในการที่จะให้มีการจัดตั้ง สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย (Thailand Olympic Academy : TOA) ขึ้น หลังจากได้มีการศึกษา และเตรียมการอยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุดสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ก็ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2545 และดำเนินการจดทะเบียนเป็นสมาชิกของ สถาบันวิทยาการโอลิมปิกนานาชาติ (International Olympic Academy: IOA) ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2545 นับเป็นประเทศสมาชิกที่ 103 จากประเทศสมาชิก 167 ประเทศในปัจจุบัน (พฤษภาคม, 2559) ต่อจากนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2545 คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีคำสั่งที่ 4/2545 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทยชุดแรก (พ.ศ.2545-2547) ขึ้นซึ่งประกอบด้วย

1. รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต ผู้อำนวยการ
2. รศ.ทวีพงษ์ กลิ่นหอม กรรมการ
3. ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ กรรมการ
4. พันโทรุจ แสงอุดม กรรมการ
5. ดร.ณัฐยา แก้วมุกดา กรรมการและเลขานุการ

โดยมี พลตรี ดร.จารึก อารีราชการัณย์ อาจารย์ปรีดา รอดโพธิ์ทอง ศ.นพ.วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ และดร.ธนา ไชยประสิทธิ์ เป็นที่ปรึกษา ต่อมาเมื่อสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ได้มีการขยายงานออกไปอย่างกว้างขวาง และมีเครือข่ายมากยิ่งขึ้น สถาบันฯ จึงได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือกิจการเพิ่มขึ้น อาทิเช่น ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ อาจารย์สมพงษ์ ชาตะวิถี รศ.อุดร รัตนภักดิ์ รศ.บรรจบ ภิรมย์คำ โดยมีนางสาวจันทร์พร แช่มช้อย เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถาบันฯ

ในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ได้ดำเนินกิจกรรมตามกรอบภารกิจที่ได้วางไว้ทุกประการ และประสบความสำเร็จมีความก้าวหน้าทั้งในบทบาทของการให้ความรู้ทางด้านวิชาการ งานการสำรวจ ค้นคว้า วิจัย รวบรวมข้อมูลหลักฐาน งานการให้บริการวิชาการที่เกี่ยวกับอุดมการณ์โอลิมปิก (Olympism) และยุทธศาสตร์โอลิมปิก (Olympic Movement) โดยผ่านเส้นทางของการให้การศึกษา (Olympic Education) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลั่นกรองคัดเลือกบุคลากร จากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย จากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เข้าร่วมโครงการทางวิชาการต่างๆ ของสถาบันวิทยาการโอลิมปิกนานาชาติ ณ เมืองโอลิมเปีย ประเทศกรีซ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองอิชเมียร์ ประเทศตุรกี กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ มาแล้วถึง 54 คน สำหรับตัวแทนของสื่อมวลชนที่ได้เดินทางไปโอลิมเปีย คือ ดร.เลอภพ โสรัตน์ และ นักกีฬายกน้ำหนักในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ คือ คุณอุดมพร พลศักดิ์ และบุคลากรเหล่านี้ก็ได้นำความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนาวงการกีฬา วงการพลศึกษา และวิทยาศาสตร์การกีฬาได้อย่างเต็มความสามารถในฐานะของอาสาสมัคร นอกจากนี้ สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ก็ยังได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ในการคัดเลือกเยาวชนไทย เพื่อเข้าร่วมโครงการ Olympic Games Youth Camp, Asian Games Youth Camp ซึ่งเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดสรร และไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว กับเยาวชนจากประเทศสมาชิกโอลิมปิกชาติอื่นๆ จะได้รับความชื่นชมในความสามารถ การแสดงออกของการเป็นผู้นำ ตลอดจนการนำศิลปวัฒนธรรมประจำชาติไปแสดงจากคณะกรรมการผู้ดูแล และเพื่อนๆ เยาวชนจากชาติอื่นๆ อยู่เนืองๆ ในปีค.ศ. 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Youth Olympic Games ขึ้นนั้น สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ได้รับมอบหมายให้คัดเลือกสื่อมวลชนเยาวชน ซึ่งมีอายุระหว่าง 18 – 24 ปี ให้เข้าร่วมกิจกรรม “1st Youth Olympic Games, Singapore 2010 – Young Reporters Program” จำนวน 1 คน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการของ International Olympic Committee ร่วมกับ 1st Youth Olympic Games Organizing Committee โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนเยาวชนจากทั้ง 5 ทวีปทั่วโลกได้มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ “นักสื่อมวลชนเยาวชน” จำนวน ทั้งสิ้น 26 คน ในระหว่างการแข่งขัน Youth Olympic Games ณ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า นักสื่อมวลชนเยาวชนไทย นายณัฐวุฒิ ไผ่แก้ว จากหนังสือพิมพ์สยามกีฬา เป็น 1 ใน 26 คน ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการนี้ ระหว่างวันที่ 12-27 สิงหาคม 2553

สำหรับกิจกรรมประจำที่สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย จะต้องจัดเพื่อเป็นการถ่ายทอด เติมเต็มความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้บริหารสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาจังหวัด ตลอดจนผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการกีฬาในทุกระดับ ก็คือการอบรมหลักสูตร “การบริหารการกีฬา” (Sport Administration) ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรของคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (Olympic Solidarity) ซึ่งขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 550 คน (นับตั้งแต่ พ.ศ.2545 – ปัจจุบัน) เช่นเดียวกันบุคลากรเหล่านี้ต่างก็ได้รับความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ทางด้านการบริหารการจัดการทางการกีฬา และได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารสมาคม องค์กร และหน่วยงานต่อไป

ในปี พ.ศ.2549 รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ (พลตรี ดร.จารึก อารีราชการัณย์) ได้เล็งเห็นว่าหนทางในการที่จะให้งานของสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทยได้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดนั้น สถาบันฯคงจะต้องสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษา เพราะสถาบันการศึกษาจะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว การถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจน่าจะสามารถเจาะเข้าไปได้ และเกิดการเรียนรู้และขยายเครือข่ายได้เร็ว จึงได้ให้นโยบายและร่วมกันกับสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย สานงานเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว ซึ่งในที่สุด สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย โดย รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต ผู้อำนวยการสถาบันฯ จึงได้ทำความร่วมมือกับสถาบันการพลศึกษา โดยนายสมพงษ์ ชาตะวิถี อธิบดีสถาบันการพลศึกษา และได้จัดกิจกรรมแรกร่วมกัน คือ โครงการโอลิมปิกศึกษา (Olympic Education) เนื่องในโอกาสการจัดกิจกรรม Olympic Day Run ณ สะพานมิตรภาพไทย – ลาว 2 จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียตนาม โดยมีเด็กๆ และเยาวชนมาร่วมกิจกรรมโอลิมปิกศึกษาครั้งนี้ ประมาณ 1,000 คน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมีความหมาย และจากการประเมินผลทำให้ทราบว่า เด็กๆและเยาวชนเหล่านั้น ได้รับความรู้ ความเข้าใจ และซึมซับสิ่งดีๆ ที่เกี่ยวกับคุณค่าของการกีฬา (Sport Values) ไปได้อย่างมากมายจึงนับได้ว่าสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ในองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์โอลิมปิก” ตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง

ในระหว่างปี พ.ศ. 2551-2559 สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ภายใต้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมหลักสูตร Sport Administration แก่ผู้บริหารของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้บริหารจากสถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และหน่วยงานเอกชน ผู้ให้การสนับสนุนคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ครูพลศึกษา นักวิทยาศาสตร์การกีฬา ในหัวข้อเรื่อง “ถอดรหัสโอลิมปิกศึกษาเพื่อพัฒนาเยาวชน” เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับ Olympic Movement จนสามารถนำไปประยุกต์กับการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมทางพลศึกษาเป็นสื่อเพื่อให้นักเรียน เยาวชน และนักศึกษาได้มีความเข้าใจ ได้รับประสบการณ์ในแนวความคิดของ บารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ที่ต้องการใช้ปรัชญาโอลิมปิกมาเป็นฐานในการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนต่อไปในอนาคต ผลงานโดดเด่นที่สำคัญมากอีกกิจกรรมหนึ่งของสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย คือการจัดกิจกรรม “Olympic Movement through Cultural and Education Activities” ในระหว่างการจัดกิจกรรม Olympic Day 2008 -2016 โดยเฉพาะการหลอมรวมเอากิจกรรมที่ได้สอดแทรกเกี่ยวกับ Sport Values ไว้ในกิจกรรม “Fresh – Friend – Fun – Fair – Fit” ซึ่งให้เด็กๆ และเยาวชนตลอดทั้งผู้ปกครองที่เข้าร่วมในโอกาสการจัดงาน Olympic Day ทั้ง 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2551 – พ.ศ.2559) ณ จังหวัดหนองคาย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดนครพนม จังหวัดนครราชสีมา กรุงเทพมหานคร และเชียงราย ได้รับความสนุกสนาน รื่นเริง และได้รับความรู้อย่างเต็มอิ่มสมดังวัตถุประสงค์ทุกประการ เช่นเดียวกันกับภายหลังการเสร็จสิ้นการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อสิงหาคม 2551 สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำพ้อกเก็ตบุ๊ค เรื่อง “ปรากฏการณ์เหนือการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ 2008” ขึ้น คณะผู้จัดทำโดยมี รศ.ดร.สุพิตร สมาหิโต ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ผศ.ดร.เกษม นครเขตต์ นักวิชาการอิสระ ผู้แทนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ปรึกษาของสถาบันฯ และ รศ.อุดร รัตนภักดิ์ กรรมการ ของสถาบันฯ ภายใต้การสนับสนุนและการให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจาก พลตรี ดร.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้ผลิตพ้อกเก็ตบุ๊คเล่มประวัติศาสตร์นี้ออกมา เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจใน “ยุทธศาสตร์โอลิมปิก” ในบริบทของ “โอลิมปิกเกมส์” ขณะเดียวกันก็ได้สอดแทรกแนวคิดตลอดจนการปลุกจิตสำนึกให้เห็นถึงคุณค่าของโอลิมปิกเกมส์ที่แท้จริงที่นอกเหนือไปจากเกมส์ของการแข่งขัน

ก้าวย่างของปีที่ 15 ของการก่อตั้งสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย นอกเหนือจากกรอบภารกิจหลักในการถ่ายทอดความรู้ การจัดอบรม สัมมนา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบันโอลิมปิกชาติอื่นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้มีสถาบันวิทยาการโอลิมปิกของชาติอื่นๆ อาทิเช่น เกาหลี มองโกเลีย สิงค์โปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียตนาม ได้เชิญคณะกรรมการของสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทยไปบรรยาย ร่วมประชุม สัมมนา นำเสนอบทความ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่เนืองๆ แล้ว แผนงานหลักที่จะต้องจัดทำให้เสร็จสิ้นก็คือ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์โอลิมปิคไทย ซึ่งขณะนี้ก็ได้ดำเนินการไปได้ระดับหนึ่งแล้ว โดยที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้มอบนโยบายเอาไว้ว่า ในพิพิธภัณฑ์โอลิมปิคไทยนี้นั้น จะต้องจัดทำห้องสมุด ซึ่งจะเป็นแหล่งรวบรวมเอกสาร หนังสือ วารสาร สิ่งตีพิมพ์ รูปภาพ ภาพโปสเตอร์ และของที่ระลึกทั้งหมดที่เกี่ยวกับโอลิมปิก และจะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา เยาวชน และครูอาจารย์ เข้ามาใช้บริการเพื่อศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับโอลิมปิกในภาพรวมต่อไป นอกจากนี้สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ได้ร่วมมือกับสถาบันการพลศึกษาในการริเริ่ม และผลักดันให้มีการจัดตั้ง Olympic Studies Center ในสถาบันการพลศึกษาทั้ง 17 วิทยาเขต และในโรงเรียนกีฬาอีก 11 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้โดยมุ่งหวังจะให้ทุกวิทยาเขต และทุกโรงเรียนกีฬาเป็นเครือข่ายตรงในการรับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย และนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้นักศึกษาของสถาบันการพลศึกษา และนักเรียนโรงเรียนกีฬาเป็นกลุ่มเป้าหมายนำร่อง ซึ่งเมื่อได้ดำเนินการไประยะหนึ่งแล้ว ก็จะมีการนิเทศ ติดตาม ประเมินผล และรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นผลงานการวิจัย และจะได้นำเสนอเพื่อการเผยแพร่ต่อไป การผลักดันให้มีการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาโอลิมปิกศึกษา (Olympic Education) ในสถาบันการผลิตครูก็เป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทย ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และเป็นที่น่ายินดีว่า ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และสถาบันการพลศึกษาทั้ง 17 วิทยาเขต ได้บรรจุรายวิชานี้ไว้ในหลักสูตร และเปิดการเรียนการสอนไปแล้ว จึงเป็นบทบาทและหน้าที่ของสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทยในการจัดทำเอกสาร ตำรา และสื่อการเรียนการสอนต้นแบบ เพื่อมอบให้กับสถาบันการศึกษาต่างๆ ดังกล่าว ให้นำไปใช้ประกอบการเรียนการสอนต่อไป

จากวันนั้น ถึงวันนี้ และทุกย่างก้าวในวันต่อๆไป ตราบใดที่สถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทยยังอยู่คู่กับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเดียวกับที่สถาบันวิทยาการโอลิมปิกนานาชาติอยู่คู่กับคณะกรรมการโอลิมปิกนานาชาติ บทบาทของสถาบันวิทยาการโอลิมปิคไทยในการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์โอลิมปิก” ก็จะไม่มีวันสิ้นสุด แต่นับวันก็จะยิ่งมีกรณีตัวอย่างให้ได้ศึกษาติดตาม และนำมาปรับใช้เพื่อความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักการของอุดมการณ์โอลิมปิกที่ บารอน ปีแอร์ เดอ คูเบอร์แตงค์ ได้ให้ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1929 ที่ว่า “Olympic Education and Olympic Spirit have the power to contribute to resolving some of the most intense social problems and teaching the principle of honesty and respect”