นโยบายและวิสัยทัศน์​

คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นโยบายหลัก

1)  สร้างความก้าวหน้าของขบวนการโอลิมปิคตามอุดมการณ์ของ Mr. Pierre de Coubertin  ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศ อย่างเคร่งครัด โดยไม่หวั่นไหวหรือท้อแท้ต่ออิทธิพลใดๆ ภายใต้ขอบเขตกิจกรรมด้านกีฬาและงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

 

2)  ดำรงความเป็นอิสระมีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกและส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา

โอลิมปิก กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ กีฬาซีเกมส์ หรือการแข่งขันกีฬาใด ๆ ภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศ โดยภาครัฐและภาคเอกชนให้การสนับสนุน

 

3)  ส่งเสริมและสนับสนุนกีฬาสมัครเล่น การพลศึกษา และศิลปวัฒนธรรม โดยมีการร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสมาคมกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย หน่วยงานกีฬาของรัฐและเอกชนทุกแห่ง ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเวชศาสตร์การกีฬา เพื่อผลักดันให้การกีฬาของชาติก้าวหน้าไปสู่ความเป็นเลิศในแต่ละระดับ

 

4)  เสริมสร้างงานสวัสดิการและการศึกษา เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจให้กับนักกีฬา และผู้ฝึกสอนที่ไปร่วมการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ

 

5)  จัดทำพิพิธภัณฑ์กีฬาและห้องสมุด เพื่อเป็นที่เก็บรักษาอุปกรณ์ เครื่องใช้ ของที่ระลึก ตลอดจนเอกสารสิ่งตีพิมพ์ ไว้อย่างเป็นระบบแบบแผน เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาและค้นคว้าสำหรับเยาวชนรุ่นหลังเกี่ยวกับความเป็นมาของโอลิมปิคไทย  ประวัติกีฬาซีเกมส์  กีฬาเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิคเกมส์

 

6)  บริหารงาน และการเตรียมความพร้อม เพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรให้เป็นอย่างมีระบบภายใต้เงื่อนไข และสภาวะทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการเมือง โดยตระหนักถึงการทำให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับการเปลี่ยนแปลง ตามลำดับก่อนหลัง

 

     –  การพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร

 

     –  การกำหนดกลไกที่มีเสถียรภาพไปสู่เป้าหมาย อันจะทำให้เกิดประโยชน์ ตามมาในที่สุด ได้แก่ สิทธิประโยชน์ ประชาสัมพันธ์ กองทุนสงเคราะห์ สถาบันวิทยาการ สำนักข่าวสาร กฎข้อบังคับ  และวิทยาศาสตร์การกีฬา

 

     –  การพัฒนาด้านเทคนิคและการแพทย์ให้แก่ สมาคมกีฬาร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทยและกรมพลศึกษาอย่างมีเอกภาพ 

 

7)  ประสานงานกับภาครัฐ และภาคเอกชน ผลักดันให้มีการก่อสร้างศูนย์ฝึกการกีฬาแห่งชาติ (NATIONAL SPORT TRAINING CENTER) เพื่อเป็นศูนย์ฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติที่จะส่งไปร่วมการแข่งขันในระดับต่าง ๆ ระหว่างประเทศในนามของประเทศไทย

 

8)  ประสานกับคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศ สมาคมคณะกรรมการโอลิมปิคนานาชาติ (ANOC) สหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศ (IFS) และองค์กรกีฬาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ได้รับการรับรอง เพื่อให้มีการพัฒนาสอดคล้องกันกับอุดมการณ์ของคณะกรรมการกีฬาระหว่างประเทศ นั้น ๆ ต่อไป