ประวัติความเป็นมา

คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ประวัติความเป็นมา

ในปี พ.ศ.2489 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการมีชื่อเรียกว่า “คณะกรรมการต้อนรับระหว่างประเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวต่างประเทศที่มาพำนักอยู่ในประเทศไทยหลังสงครามโลก  ครั้งที่  2  ได้มีโอกาสเล่นและมีการแข่งขันกีฬา โดยรวบรวมรายได้จากการเก็บค่าผ่านประตูส่งบำรุงสภากาชาดไทยและบำรุงการกุศลสาธารณประโยชน์ด้านการกีฬา

ต่อมาที่ประชุมเห็นว่าน่าจะมีองค์กรโอลิมปิคมาดำเนินการแทนคณะกรรมการดังกล่าว  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเจริญความสัมพันธ์ไมตรีด้านการกีฬากับนานาประเทศ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ ขึ้นเมื่อ วันที่  20  มิถุนายน  2491 พร้อมทั้งได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศ ณ  เมืองโลซานน์  สมาพันธรัฐสวิส  เมื่อวันที่  22  กรกฎาคม 2491 เพื่อขอให้ดำเนินการรับรองอย่างเป็นทางการต่อไป  หลังจากนั้นคณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศ  ได้นำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุม  ณ  กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2493  ในการนี้ที่ประชุมได้ให้การรับรอง  คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ  อย่างเป็นทางการและเป็นเอกฉันท์

พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์และตราสัญลักษณ์

ในช่วงระหว่างที่คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการขอให้ (IOC) คณะกรรมการโอลิมปิคระหว่างประเทศรับรองอย่างเป็นทางการอยู่นั้น คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่อง ขอพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ อันเป็นการดำเนินเรื่องให้สอดคล้องกับนานาประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุข จึงได้มีหนังสือทูลท่านราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป

“ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยท่านราชเลขานุการในพระองค์ได้เชิญกระแสรับสั่งมา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2492 พร้อมนี้ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามลายพระหัตถ์ของท่านราชเลขาธิการ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2494 นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ฯ ซึ่งตราสัญลักษณ์คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้”

ตราสัญลักษณ์คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

IOC – The International Olympic Committee

สถานที่ตั้งสำนักงาน

เดิมที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ไม่มีสำนักงานเป็นของตนเองที่แน่นอนต้องอาศัยสถานที่ของกรมพลศึกษา สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เป็น สำนักงานอยู่หลายสิบปี สมัยต่อมา จอมพล ประภาส จารุเสถียร ดำรงตำแหน่งประธาคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แต่งตั้ง อาจารย์โฉลก โกมารกุล ณ นคร เป็นเลขาธิการ ฯ

 

ปี พ.ศ. 2508 – 2512 ได้ย้ายสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปอยู่ที่องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก (ปัจจุบันคือการกีฬาแห่งประเทศไทย)

 

และต่อมาในปี พ.ศ. 2512 จอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งยังได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมัยที่ 2 และได้เสนอที่ประชุมเพื่อแต่งตั้งให้ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ จึงได้ย้ายสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ กลับมาตั้งสำนักงานอยู่ที่กรมพลศึกษาตามเดิม

 

ในปี พ.ศ. 2517 ถึง พ.ศ. 2528 พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พันเอกอนุ รมยานนท์ ได้รับเลือกตั้งเป็น เลขาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ย้ายจากกรมพลศึกษามาตั้งอยู่ที่สโมสรทหารบก สี่เสาเทเวศร และต่อมาได้ย้ายสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งอยู่ที่บ้านอัมพวัน ถนนศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบันนี้

ความเป็นมาของบ้านอัมพวัน มีพื้นที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวาเป็นพื้นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้งของพรรคสหประชาไทย โดยมี ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นผู้เช่าที่ดินบ้านอัมพวัน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ผืนนี้ ได้ทราบรายละเอียดจากการที่ พลตรี จารึก อารีราชการัณย์ เป็นผู้ดำเนินงานมาตั้งแต่ต้นได้เล่าว่าในวันคล้ายวันเกิดของ ฯ พณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่บ้านระนอง 2 ปี

 

พ.ศ. 2530 พลตรี จารึก อารีราชการัณย์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ ต่อจาก พันเอกอนุ รมยานนท์ ได้ไปอวยพรวันเกิด ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร และได้เดินทางไปพบกับ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ที่บ้านระนอง 2 อีกหลายสิบครั้ง เพื่อไปกราบเรียนถึงเรื่องบ้านอัมพวัน ที่ขอให้ได้ลงนามโอนกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าที่ดินผืนนี้ให้กับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯ พณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ยืนยันกับพลตรีจารึก ฯ มาโดยตลอดว่า ถ้าโอนที่ดินผืนนี้ให้เป็นชื่อบุคคลใดก็ตามจะไม่ยอมโอนให้โดยเด็ดขาด มีคนมาวิ่งเต้นขอให้โอนกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าที่ดินบ้านอัมพวันผืนนี้ให้และจะมอบเงินให้ 8 -10 ล้านบาท ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ยืนยันมาโดยตลอดและจะไม่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินผืนนี้ให้กับใคร จึงได้รักษาที่ดินผืนนี้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยจะมองถึงประโยชน์การใช้ที่ดินผืนนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม สุดท้าย พลตรี จารึก ฯ ได้กราบเรียนว่าขอให้ ฯพณฯ โอนให้ในนามของ “มูลนิธิโอลิมปิคแห่งประเทศไทย” เพื่อประโยชน์ของวงการกีฬาของประเทศไทยสืบไป ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ตอบตกลงและได้นัดหมายกับพลตรี จารึก อารีราชการัณย์ ไว้ตาม วัน เวลา ที่กำหนดไว้

 

พลตรี จารึก ฯ ได้นำเรื่องทั้งหมดรายงานให้ พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ทราบ และได้นำเรื่องไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งต่อมาพลตรีจารึก ฯ พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ และผู้แทนจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้เดินทางไปพบ ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่บ้านระนอง 2 แล้ว ฯพณฯ ได้ลงนามโอนกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าที่ดินบ้านอัมพวันจำนวนพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ตั้งอยู่ระหว่างถนนศรีอยุธยา กับถนนพิษณุโลก ให้กับ “มูลนิธิโอลิมปิคแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2531 โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ตั้งแต่วันนั้นถึงจนวันนี้ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงมีสำนักงานที่ถาวรจนถึงปัจจุบันนี้